Page 1 of 1

การดูแลรักษาแผล

Posted: Sun May 01, 2011 8:40 pm
by admin
แผลทุกชนิดไม่ว่าเป็นแผลเฉียบพลัน เช่น แผลน้ำร้อนลวก แผลโดนมีดบาด หรือ แผลเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน , แผลกดทับ ฯลฯ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีหลักในการดูแลง่ายๆ 3 ขั้นตอน คือ


ขั้นตอนที่ 1. การกำจัดสิ่งสกปรก และเนื้อเยื่อที่ตายออก ถือเป็นขั้นตอนหลักของการหายของบาดแผล ซึ่งแผลจะหายหรือไม่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้เป็นหลัก โดยขั้นตอนนี้มี 2 วิธีด้วยกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้ร่วมกัน หรือ ทำอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับลักษณะแผลที่ศัลยแพทย์ทั่วไปหรือศัลยแพทย์ตกแต่งจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะใช้วิธีไหนในการรักษา

1.1 การใช้วิธีทางศัลยกรรม (Surgical debridement) คือ การผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายออก รวมทั้งล้างเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากบาดแผล

1.2 การใช้วิธีทางการใช้ยา (Medical debridement) คือ การใช้น้ำเกลือ การใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล รวมถึงการใช้ยากลุ่มเอนไซม์ ที่ย่อยสลายเนื้อตาย และ / หรือ ยับยั้ง , ฆ่าเชื้อจุลชีพต่าง ๆ บริเวณบาดแผล


ขั้นตอนที่ 2. การทำให้บาดแผลชุ่มชื้น เพราะการที่แผลจะหดเข้ามาปิดบาดแผลได้นั้น บริเวณแผลต้องชุ่มชื้น ซึ่งวิธีง่ายสุด คือ การใช้ผ้าก็อซชุบน้ำเกลือปิดบริเวณบาดแผล แต่ข้อเสีย คือ น้ำเกลือมักแห้งเร็ว และเมื่อแห้งผ้าก็อซจะติดแผล และเจ็บเวลาเอาผ้าก็อซออก รวมทั้งขณะเอาผ้าก็อซที่แห้งออกยังอาจทำลายเนื้อเยื่อของแผลที่ติดออกมากับผ้าก็อซได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าก็อซแห้ง จึงต้องเปลี่ยนผ้าก็อซอย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง ทำให้ไม่ค่อยสะดวกในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงมีการใช้ ผลิตภัณฑ์บางชนิด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นกับแผล หรือ พูดง่าย ๆ คือ ป้องกันไม่ให้การระเหยของน้ำบริเวณแผลเร็วเกินไป เช่น การใช้ Hydrogel ฯลฯ เป็นต้น


ขั้นตอนที่ 3. การทำให้แผลปิดให้เร็วที่สุด เนื่องจากแผลที่ยิ่งใช้เวลานานในการหายของแผล จะยิ่งเกิดเนื้อเยื่อผังผืด บริเวณแผลมากขึ้น ปริมาณหลอดเลือดที่จะไปเลี้ยงแผลก็ลดลง ดังนั้นหากปล่อยให้แผลหายช้ามากเท่าไร อัตราการหายของแผลก็ยิ่งลดลง ดังนั้นศัลยแพทย์ทั่วไป หรือศัลยแพทย์ตกแต่งจะเป็นผู้ประเมินว่าเมื่อไร ควรเริ่มปิดแผล หากประเมินว่า แผลไม่สามารถปิดได้เอง ส่วนวิธีการก็มีตั้งแต่ การเย็บปิดแผลโดยตรง , การปลูกถ่ายผิวหนัง, การปิดแผลโดยโยกเนื้อเยื่อข้างเคียง หรือ บริเวณส่วนอื่นของร่างกายและสุดท้าย การปิดแผลโดยใช้การต่อหลอดเลือด และหรือเส้นประสาทจากเนื้อเยื่อ บริเวณอื่นของร่างกาย

จะเห็นได้ว่า การดูแลรักษาแผลไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะมองข้าม หรือเป็นเรื่องยากเกินไปที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลหรือทำแผลได้เอง แต่หากเข้าใจขั้นตอนการดูแลแผลดังกล่าวแล้ว คุณเองก็พร้อมที่จะดูแลแผลให้กับตัวเอง หรือ คนข้างเคียงที่เป็นคนสำคัญของคุณ พร้อมกับการดูแลจากศัลยแพทย์ ได้อย่างมั่นใจครับ



นพ. อภิชาญ พงศ์พัฒนานุรักษ์
ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์ตกแต่ง

Re: การดูแลรักษาแผล

Posted: Fri Aug 12, 2011 1:03 pm
by kittiya
ได้ความรุ้มากเลย ค่ะ

Re: การดูแลรักษาแผล

Posted: Thu Aug 18, 2011 5:45 pm
by puklooknarak20
:)

Re: การดูแลรักษาแผล

Posted: Thu Apr 09, 2015 4:31 pm
by Anakonme
อ่านแล้วเพลินเลย