Page 1 of 1

แผลเป็น (Scar) และ การรักษาแผลเป็น (Scar treatment)

Posted: Wed Aug 10, 2011 9:17 pm
by admin
แผลเป็น (Scar) เป็นผลที่ตามมาจากการหายของแผล ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบคือ

1. แผลเป็นปกติ (Normal scar)
มีลักษณะโดยทั่วไปคือ เมื่อเป็นแผล และแผลหายในช่วงแรกแผลจะนูนแดงเล็กน้อย ต่อมาจะค่อยๆซีดและยุบลง ส่วนใหญ่จะภายใน 3 เดือน และมักไม่เกิน 1 ปี แต่อย่างไรก็ตาม จะทิ้งร่องรอยของแผลไว้อยู่จางๆให้ทราบว่าเคยเป็นแผลมาก่อน

2. แผลเป็นแบบผิดปกติ ( Abnormal scar) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 แผลเป็นชนิด Hypertrophic
2.2 แผลเป็นชนิด Keloid

ทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายกัน คือ แผลที่นูน แดง และคัน โดยหากยิ่งเกาจะยิ่งนูน และแดงมากขึ้นในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงความแตกต่างของทั้ง 2 ชนิด แต่ในความคิดของคนทั่วไปมักเรียกแผลเป็นนูนทั้ง 2 ชนิดนี้ว่า แผลเป็น Keloid ซึ่งพบได้ทุกส่วนของผิวหนัง แต่ที่พบบ่อยคือ บริเวณใบหู หัวไหล่ และกลางหน้าอก เป็นต้น
แผลเป็น1.jpg
ส่วนแผลเป็นอีกประเภทหนึ่งคือ "แผลเป็นยืดขยาย" (Widening scar) ซึ่งก็คือแผลเป็นแบบปกตินั่นเอง แต่มีการยืดขยายออกจากแผลตามแนวแรงดึงของผิวหนังบริเวณนั้น พบได้ทั่วไปแต่เห็นได้ชัดบริเวณผิวหนังที่มีแรงตึงหรือแรงดึงบริเวณผิวหนังมากๆ เช่น ต้นขา หน้าแข้ง หรือบริเวณข้อต่อต่างๆ ที่มักมีการเคลื่อนไหว เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า เป็นต้น

นอกจากนี้บางคนคงเคยได้ยินคำว่า "แผลเป็นดึงรั้ง" (Contractured scar) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือแผลเป็นทั้งชนิด Hypertrophic scar และ Keloid ที่เกิดบริเวณข้อต่อต่างๆแล้วทำให้ข้อต่อบริเวณนั้นหดรั้ง ไม่สามารถยืดหรืองอได้เต็มที่ หากปล่อยไว้นานๆอาจทำให้กระดูกข้อผิดรูปได้ตามมา
แผลเป็น2.jpg


ส่วนการรักษาแผลเป็น (Scar treatment) นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งสามารถใช้ได้กับแผลเป็นทุกชนิด ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การผ่าตัดแผลเป็นนั้นโดยตรงแล้วเย็บกลับเข้ามาใหม่ แต่หากเป็นบริเวณที่ยากต่อการเย็บโดยตรง อาจใช้วิธีโยกเนื้อข้างเคียงเข้ามาเพื่อทำให้เย็บได้ง่ายขึ้น (Local flap coverage ) หรือ ใช้เนื้อเยื่อบริเวณอื่นมาปิดแทน (Distant flap) เช่น ใช้เนื้อเยื่อบริเวณต้นขามาปิดแผลเป็นบริเวณหน้าท้องช่วงล่าง หรือแม้แต่การฝังอุปกรณ์ยืดขยายผิวหนัง (Tissue Expander) ไว้ก่อน เมื่อได้ผิวหนังที่ยืดขยายดีแล้วจึงค่อยตัดแผลเป็นออก และโยกผิวหนังที่ยืดขยายแล้วเข้ามาปิดบริเวณที่ตัดเอาแผลเป็นนั้นออกอีกที นอกจากนี้หากเป็นแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่มากๆ โดยเฉพาะแผลเป็นดึงรั้ง อาจใช้การผ่าตัดทางจุลศัลยกรรมเข้ามาช่วย โดยใช้เนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณอื่นมาปิดแผลเป็นที่ตัดออก ร่วมกับการเย็บต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท (Free flap coverage) ส่วนการปลูกผิวหนัง (Skin graft) นั้นเป็นวิธีที่มีการใช้กันมากในกรณีที่ไม่สามารถเย็บแผลเป็นเข้าหากันโดยตรง แต่ในด้านความสวยงามของผิวหนัง และการรับรู้ความรู้สึกที่ผิวหนัง จะไม่ดีเท่าวิธีการผ่าตัดอื่นที่กล่าวมา

2. การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด
มักใช้กับแผลเป็น Hypertrophic และ Keloid ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่
2.1 การฉีดยาให้แผลเป็นยุบ ซึ่งมักต้องร่วมกับการนวดบริเวณแผลเป็นที่ถูกวิธีด้วย
2.2 การใช้เลเซอร์
2.3 การใช้รังสี
2.4 การใช้ยาทาแผลเป็น หรือใช้แผ่นซิลิโคนปิดแผล เพื่อให้แผลเป็นยุบ
แผลเป็น3.jpg
ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว สำหรับการรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดที่ผมคิดว่าได้ผลดีที่สุด คือ การฉีดยาร่วมกับการนวดอย่างถูกวิธี ส่วนการใช้เลเซอร์และรังสี ต้องเลือกให้เหมาะสมเป็นรายๆไป รวมทั้งต้องระวังผลแทรกซ้อนที่ตามมา ส่วนการใช้ยาทาหรือใช้แผ่นซิลิโคนปิดแผลมักไม่ได้ผลเท่าที่ควร

3. การรักษาแบบผสมผสาน คือ ใช้ทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัดร่วมกัน ซึ่งโดยทั่วไปผมมักใช้ในกรณีแผลเป็น Hypertrophic และ Keloid ขนาดใหญ่ โดยจะฉีดยาให้ยุบลงในระดับที่ทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น แล้วจึงใช้วิธีการผ่าตัดแบบเย็บผิวหนังเข้าหากันโดยตรง หรือ วิธีการโยกเนื้อเยื่อข้างเคียงมาปิด เป็นต้น


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบทความโดยสรุป เพื่อให้เข้าใจกันโดยง่าย รวมทั้งเป็นความเห็นส่วนตัวในการรักษาแผลเป็นที่ได้จากประสบการณ์ของผมเอง จึงขออย่าได้ไปเปรียบเทียบหรือกล่าวอ้างกับการรักษาของแพทย์ผู้อื่น หากว่าวิธีการรักษานั้นแตกต่างกัน


นพ.อภิชาญ พงศ์พัฒนานุรักษ์